fbpx
หลักการบริหารเงินทุน Money Management

Risk of Ruin : โอกาสของการหมดตัว

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr

Risk of Ruin กับการเล่นหุ้นRisk of Ruin : โอกาสของการหมดตัว

วันนี้เราจะย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องของ Money Management กันบ้าง สิ่งที่ผมกำลังจะพูดถึงนั้น เกี่ยวพันถึงความเป็นและความตายในฐานะของนักเล่นหุ้นกันเลยทีเดียว Risk of Ruin หรือโอกาสที่คุณจะหมดตัวนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมันเป็นองค์ประกอบที่เกิดจากความเสี่ยง (Risk Exposed) ซึ่งมาจากขนาดการลงทุน (Position Size) และประสิทธิภาพของระบบการลงทุนของคุณเอง ระบบใครก็ระบบมัน ดังนั้น เราจึงควรที่จะรู้ว่าความเสี่ยงของตัวเราเองนั้นมีอยู่มากน้อยแค่ไหนครับ

คุณจะอยู่รอดในตลาดหุ้นได้ก็ต่อเมื่อ.. คุณเคารพต่อกฏของมัน

Risk of Ruin นั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ได้ถูกศึกษาอย่างจริงจรังจากทั้งนักคณิตศาสตร์, นักการพนันและนักลงทุนมาอย่างเนิ่นนานแล้ว ทฤษฏีเบื้องหลังของมันถูกอิงมาจากสูตรทางคณิตศาสตร์ซึ่งจะบอกให้คุณได้รู้ว่า จากประสิทธิภาพของระบบการลงทุน และระบบ Money Management ของคุณนั้น คุณมีโอกาสมากแค่ไหนที่จะหมดตัวนั่นเอง

โดยปกติแล้ว เราทุกคนต้องการที่จะออกแบบระบบการลงทุนในส่วนของ Money Management ให้ดีพอจนแน่ใจได้ว่าโอกาสหมดตัวของเรานั้นเป็นศูยน์ (ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีอะไรที่สามารถรับประกันได้อย่างแน่นอนก็ตาม) อย่างไรก็ดีในเบื้องต้นแล้ว สมการของการหา Risk of Ruin นั้นจะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 (0 คือไม่มีความเป็นไปได้ ส่วน 1 คือ 100% ไม่ช้าไม่นานยังไงต้องเจ๊งแน่นอน!) โดยมันจะถูกอ้างอิงจากตัวแปรหลักๆสามตัวดังต่อไปนี้

1. Wining Ratio (อัตราความแม่นยำ) ซึ่งจะถูกคำนวนจากจำนวนครั้งที่คุณมีกำไรจากการซื้อขายหุ้นของคุณทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น หากระบบของคุณมีความแม่นยำอยู่ที่ 40 ใน 100 ครั้ง คุณจะมี Wining Ratio เท่ากับ 40% และมี Losing Ratio (อัตราความผิดพลาด) อยู่ที่ 60% นั่นเอง

2. Payoff Ratio (อัตราต่อรอง หรือผลตอบแทนต่อความเสี่ยงในการซื้อขายโดยเฉลี่ย) ซึ่งจะถูกคำนวนจาก Average Wining Trades (ผลกำไรโดยเฉลี่ยในแต่ละครั้ง) หารด้วย Average Losing Trades (ผลขาดทุนโดยเฉลี่ยในแต่ละครั้ง) หรือพูดง่ายๆก็คือ มันบอกให้คุณรู้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วคุณได้กำไรเป็นกี่เท่าของการขาดทุนที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากค่าของมันอยู่ที่ 3:1 นั่นหมายถึงคุณจะได้กำไรครั้งละสามเท่าของการขาดทุนนั่นเอง

3. Percent of Capital Exposed to Trading (ความเสี่ยง หรือสัดส่วนที่จะยอมขาดทุนคิดเป็นร้อยละของเงินทุน) พูดง่ายๆก็คือ นี่คือสิ่งที่คุณจะกำหนดเอาไว้ว่าคุณจะยอมเสียเงินครั้งละมากแค่ไหนในแต่ละครั้ง (คิดเป็น%) เมื่อเทียบจากเงินทุนที่คุณมีอยู่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่สำหรับคนทั่วๆไปหรือมือใหม่นั้น มันไม่ควรที่จะเกินครั้งละ 2% ของเงินทุนที่คุณมีอยู่ หรือคุณอาจจะสามารถหามันออกมาจากสมการของ Kelly ที่ใช้หาค่า Optimal F ก็ได้

สิ่งที่น่าสนใจจากสมการ Risk of Ruin ก็คือ มันจะค่อยลดลงเมื่อ Payoff Ratio ของคุณสูงขึ้น หรือเมื่อ Winning Ratio ของคุณเพิ่มมากขึ้น ในทางกลับกันแล้ว Risk of Ruin จะมีค่าที่สูงขึ้นเมื่อคุณยอมเสี่ยงหรือขาดทุนมากขึ้นในการซื้อขายหุ้นแต่ละครั้งนั่นเอง

สูตรการคำนวนหา Risk of Ruin

สำหรับสูตรการคำนวน Risk of Ruin นั้นมีอยู่หลายเจ้าเหมือนกัน วันหลังหากมีโอกาสผมจะมาเขียนอธิบายให้ฟังต่อนะครับเพราะค่อนข้างจะซับซ้อนอยู่ (ผมกับวิชาเลขนี่ก็แบบว่าถูกกันมากเลย 55) โดยข้างล่างจะเป็นสูตรของเจ้าพ่อเรื่อง Trading System นั่นก็คือ Perry Kaufman ครับ ถ้าใครไม่มึนก็คำนวนไปได้เลย แต่ถ้ามึนๆหน่อย ลองอาศัยตารางของ Nauzer J. Balsara ดูก็ได้ครับว่า Impact ของตัวแปรต่างๆเป็นอย่างไรกันบ้าง

สูตรการหา Risk of Ruin โดย Perry Kaufman จากหนังสือ New Trading Systems and methods 4th Edition

Risk of Ruin Formula by Kaufman

ตาราง Risk of Ruin ของ Nauzer J. Balsara : ผล Risk of Ruin โดยมีอัตราเสี่ยงครั้งละ 10% ของเงินทุน (*สมมุติว่าขาดทุนครั้งละ 10% ของเงินทุน ไม่ใช่การขนาดของการลงทุนในแต่ละครั้งที่ 10% นะครับ)

Risk of Ruin Probabilities Payoff Ratio 1 to 1 Payoff Ratio 2 to 1 Payoff Ratio 3 to 1 Payoff Ratio 4 to 1 Payoff Ratio 5 to 1
Win Ratio 25% 100 % 100 % 99 % 30.3 % 16.2 %
Win Ratio 30% 100 % 100 % 27.7 % 10.2 % 6.0 %
Win Ratio 35% 100 % 60.8 % 8.2 % 3.6 % 2.3 %
Win Ratio 40% 100 % 14.3 % 2.5 % 1.3 % 0.8 %
Win Ratio 45% 100 % 3.3 % 0.8 % 0.4 % 0.3 %
Win Ratio 50% 99 % 0.8 % 0.2 % 0.1 % 0.1 %
Win Ratio 55% 13.2 % 0.2 % 0.1 % 0.1 % 0.0 %
Win Ratio 60% 1.7 % 0.0 % 0.0 % 0.0 % 0.0 %

ตาราง Risk of Ruin ของ Nauzer J. Balsara : ผล Risk of Ruin โดยมีอัตราเสี่ยงครั้งละ 20% ของเงินทุน

Risk of Ruin Probabilities Payoff Ratio 1 to 1 Payoff Ratio 2 to 1 Payoff Ratio 3 to 1 Payoff Ratio 4 to 1 Payoff Ratio 5 to 1
Win Ratio 25% 100 % 100 % 98 % 55 % 40 %
Win Ratio 30% 100 % 100 % 52.2 % 31.7 % 24.7 %
Win Ratio 35% 100 % 77.9 % 28 % 18.7 % 15.3 %
Win Ratio 40% 100 % 37.6 % 15.9 % 11.3 % 9.4 %
Win Ratio 45% 100 % 18.3 % 8.7 % 6.5 % 5.8 %
Win Ratio 50% 99 % 0.9 % 4.7 % 3.8 % 3.4 %
Win Ratio 55% 36.8 % 4.4 % 2.5 % 2.1 % 2.0 %
Win Ratio 60% 13.0 % 2.0 % 1.3 % 1.1 % 1.1 %

 

คำแนะนำสำหรับมือใหม่ : จะเห็นได้ว่าสำหรับมือใหม่แล้ว การพยายามจำกัดความเสี่ยงไว้ไม่ให้บานปลายตามสูตรมาตรฐานโดยทั่วไปนั้น (2% ในการเทรดละครั้ง หรือการจำกัดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ทไว้ที่ 6%) เป็นสิ่งที่สำคัญและไม่ควรละเมิดอย่างยิ่ง (อย่างน้อยก็จนกว่าจะแก่กล้าวิชาพอ) เพื่อเป็นการยืดอายุและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของเราออกไปให้นานที่สุด เนื่องจากคุณจะเห็นได้ว่า ยิ่งเราเสี่ยงหนักมากเท่าไหร่ Risk of Ruin ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น

Note : มองแล้วจะเห็นว่าไม่แปลกเลยที่คนเล่นหุ้นส่วนใหญ่จะเจ๊งหุ้น เพราะพวกเขามักปล่อยให้ตัวแปรตัวที่ 3 (Risk – Capital Exposure) บานปลายเกินไปกว่า 10-20% ของเงินทุนแทบทุกครั้ง เรื่อง Payoff ไม่ต้องพูดถึงเพราะหุ้นขึ้นนิดหน่อยก็รีบชิงขายทำกำไรกันแล้ว ส่วนอัตราความแม่นยำก็อย่างที่รู้ๆกันอยู่ หวังว่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนติดหุ้นแล้วไม่เปลี่ยนนิสัยได้เป็นอย่างดีนะครับ

แมงเม่าคลับ.คอม หนังสือหุ้นน่าอ่าน, วิธีการเล่นหุ้น, การวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิค, จิตวิทยาการลงทุน และการบริหารเงินทุน Money Management

ถ้าเห็นว่าบทความไหนมีประโยชน์ เพื่อนๆสามารถที่จะนำบทความไปแปะเพื่อแบ่งปันได้โดยไม่มีปัญหา แต่ยังไงขอแรงช่วยลิงค์อ้างอิงกลับมาที่แมงเม่าคลับกันหน่อยนะครับ :D หมายเหตุ : สำหรับการแปะลิงค์ใน Pantip.com ช่วยใส่ Link ให้เป็น http://www.mangmaoclub.com เพื่อให้แปะลงไปได้โดยไม่ Error ขอบคุณครับ :)